วันพฤหัสบดีที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2558

การประเมินผลการเรียนรู้

http://www.c4ed.kmutt.ac.th/?q=node/144 ได้กล่าวถึงการประเมินผลของผู้เรียนไว้ดังนี้
การประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียน
ช่วงศตวรรษที่ 20 การวัดการเรียนรู้ของผู้เรียนโดยส่วนใหญ่มุ่งเน้นที่คะแนนจากแบบทดสอบที่อิงบรรทัดฐานตามสถานศึกษาที่เน้นเพียงด้านความรู้ หากนำมาใช้กับโมเดลการศึกษาในศตวรรษที่ 21 ที่มุ่งให้ผู้เรียนเกิดผลลัพธ์ที่พึงประสงค์ ซึ่งได้แก่ ความรู้ ทักษะ และความเชี่ยวชาญที่ผู้เรียนต้องมีเพื่อความสำเร็จในการทำงานและการดำรงชีวิต โดยมีลักษณะการบูรณาการทั้งคุณธรรมและความรู้ แสดงให้เห็นว่าการพัฒนาผู้เรียนด้านสมองและจิตใจต้องควบคู่กันไปโดยไม่แยกส่วน คงไม่สามารถนำมาวัดได้อย่างครอบคลุม โดย แนวโน้มของการประเมินผลในศตวรรษที่ 21 จะอยู่บนพื้นฐานของการประเมินพหุมิติ เช่น ด้านความรู้ ด้านความรู้สึก และทักษะการปฏิบัติทุกด้าน ซึ่งในการประเมินสามารถประเมินระหว่างเรียนและประเมินสรุปรวม โดยมีขั้นตอนดังนี้
1. กำหนดวัตถุประสงค์และเป้าหมายในการประเมิน
2. พิจารณาขอบเขต เกณฑ์ วิธีการ และสิ่งที่จะประเมิน เช่น ประเมินพัฒนาการทางพฤติกรรมและบุคลิกภาพ ทักษะการทำงานเป็นทีม ขอบเขตที่จะประเมิน เช่น ด้านความรู้ ทักษะ ความรู้สึกและคุณลักษณะ
3. กำหนดองค์ประกอบและผู้ประเมินว่ามีใครบ้างที่จะประเมิน เช่น ผู้เรียน อาจารย์ประเมินทักษะการทำงานเป็นทีม
4. เลือกใช้เทคนิคและเครื่องมือในการประเมินที่มีความหลากหลายเหมาะกับวัตถุประสงค์และเกณฑ์การประเมิน เช่น การทดสอบ การสัมภาษณ์ การใช้แบบสอบถาม เป็นต้น
5. กำหนดเวลาและสถานที่ที่จะประเมิน เช่น ประเมินระหว่างการทำกิจกรรม ระหว่างการทำงานกลุ่มและโครงการ วันใดวันหนึ่งของสัปดาห์ เหตุการณ์ เป็นต้น
6. วิเคราะห์ผลและการจัดการข้อมูลการประเมิน โดยนำเสนอรายการกระบวนการ แฟ้มสะสมผลงาน การบันทึกข้อมูล ผลการสอบ
เครื่องมือที่ใช้ในการประเมิน
เครื่องมือที่สามารถนำมาใช้ในการประเมินนั้นมีหลากหลายขึ้นกับความเหมาะสมกับสถานการณ์และสามารถประเมินความรู้ ความสามารถของผู้เรียนได้ตามความสามารถจริงโดยมีตัวอย่างดังนี้
1.  การสังเกต (Observation) เป็นกระบวนการที่ผู้สังเกตทำการเก็บรวบรวมข้อมูลโดยการบันทึกพฤติกรรมหรือกลุ่มหรือการกฎการณ์ในสถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่งที่เกี่ยวข้องกับประเด็นที่ศึกษาโดยอาศัยประสาทสัมผัสของผู้สังเกตเป็นเครื่องมือในการแสวงหาความรู้หรือข้อมูลเพื่อใช้ในการศึกษา นอกจากนี้ข้อมูลที่ได้ยังขึ้นอยู่กับการรับรู้ ทัศนคติตลอดจนประสบการณ์ของผู้สังเกตด้วย ดังนั้นข้อมูลที่ได้จากการสังเกตจะถูกต้องเชื่อถือได้หรือไม่เพียงใดจึงขึ้นอยู่กับตัวผู้สังเกตเป็นสำคัญ
2.  การสัมภาษณ์ (Interview) เป็นเทคนิควิธีการรวบรวมข้อมูลแบบหนึ่งสำหรับใช้ในการประเมิน ทางการศึกษาที่อาศัยการเก็บข้อมูลโดยมีผู้สัมภาษณ์เป็นผู้ถามและจดบันทึกคำตอบ และมีผู้ถูกสัมภาษณ์เป็นผู้ให้ข้อมูล รายการคำถามหรือชุดคำถามที่ผู้สัมภาษณ์ใช้ถามจะเรียกว่า แบบสัมภาษณ์ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ใช้รวบรวมข้อมูลสำหรับการวัดผลการประเมินผลและการวิจัย
3. แบบสอบถาม (Questionair) เป็นชุดของข้อคำถามหรือข้อความที่สร้างและจัดเรียงลำดับไว้อย่างเป็นระบบ เพื่อใช้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับ ข้อเท็จจริง ความคิดเห็น ความเชื่อ และความสนใจต่างๆ

4. แบบทดสอบวัดความสามารถจริง (Authentic Test) เป็นลักษณะคำถามปลายเปิดเน้นให้ผู้เรียนตอบข้อคำถามในลักษณะการนำความรู้ความเข้าใจ และประสบการณ์เดิมจากสถานการณ์จำลองหรือคล้ายคลึงกัน โดยมีระดับของสภาพจริงในชีวิต บูรณาการความรู้ความสามารถหลายด้าน มีคำตอบถูกหลายคำตอบ
5. บันทึกของผู้เรียน (Learning log) ผู้เรียนพูดหรือเขียนบรรยายสะท้อนความรู้ ความเข้าใจ ความคิด ความรู้สึก ความต้องการ วิธีการทำงาน และคุณลักษณะของผลงาน - การตรวจผลงาน เป็นวิธีการที่สามารถนำผลประเมินไปใช้ทันที และควรดำเนินการตลอดเวลาเพื่อการช่วยเหลือผู้เรียน และเพื่อปรับปรุงการสอนของอาจารย์
6. แฟ้มสะสมผลงาน (Portfolio) เป็นการเก็บรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวกับผู้เรียน ผลงาน การปฏิบัติซึ่งในการรวบรวมควรใช้วิธีการเก็บข้อมูลหลายๆ วิธีผสมผสานกัน เพื่อให้ได้ข้อมูลที่หลากหลาย ครอบคลุมพฤติกรรมทุกด้าน และมีจำนวนมากพอที่จะใช้ในการประเมินผลผู้เรียน
7. แบบสำรวจรายการ เป็นเครื่องมือที่ใช้ได้รวดเร็วกว่าการบันทึกพฤติกรรม ซึ่งการบันทึกแบบตั้งใจที่จะดูพฤติกรรมหรือการเรียนรู้ว่าเกิดหรือไม่
          ในการประเมินจำเป็นต้องใช้เครื่องมือที่มีเหมาะสมสอดคล้องกับสิ่งที่จะวัดและมีความน่าเชื่อถือได้ ด้วยเหตุนี้การกำหนดเกณฑ์และวิธีการสร้างเกณฑ์การให้คะแนนจึงเป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากมีการปฏิบัติ ไม่มีการเฉลยเหมือนแบบทดสอบชนิดเลือกตอบ การให้คะแนนนั้นเป็นการให้คะแนนตามความรู้สึกของผู้ตรวจ จึงได้มีผู้เสนอวิธีการประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียนจากการปฏิบัติงาน ผลงาน และจากพฤติกรรมการสแดงออกของผู้เรียน การกำหนดแนวการให้คะแนน หรือรูบริค (Rubric) เป็นวิธีการที่ทำให้การพิจารณาผลงานมีความยุติธรรม เนื่องจากได้มีการกำหนดเกณฑ์หรือแนวทางการให้คะแนนไว้ล่วงหน้าแล้ว โดยการให้คะแนนรูบริคมี 2 แบบ คือ
แบบที่ 1 เกณฑ์การให้คะแนนเป็นภาพรวม (holistic scoring rubric) คือ แนวทางในการให้คะแนนโดยพิจารณาจากภาพรวมของชิ้นงาน จะมีคำ อธิบายลักษณะของงานในแต่ละระดับไว้อย่างแล้วเขียนอธิบายคุณภาพของงานหรือความสำเร็จของงานเป็นชิ้นๆ เกณฑ์การประเมินในภาพรวม สำหรับการให้คะแนนรูบริคส่วนใหญ่จะประกอบด้วย 3–6 ระดับ ซึ่งไม่แยกคะแนนออกเป็นแต่ละองค์ประกอบหรือรายการ วิธีการนี้ใช้ง่ายและประหยัดเวลา อาจแบ่งวิธีการให้คะแนนหลายวิธี เช่น
          วิธีที่ 1 แบ่งตามคุณภาพเป็น 3 แบบ คือ
                   แบบที่ 1 งานและเขียนคำอธิบายลักษณะของงานที่มีคุณภาพเป็นพิเศษ
                   แบบที่ 2 งานและเขียนคำอธิบายลักษณะของงานมีคุณภาพที่ยอมรับได้
                   แบบที่ 3 งานและเขียนคำอธิบายลักษณะของงานมีคุณภาพยอมรับได้น้อย
          วิธีที่ 2 กำหนดระดับความผิดพลาด คือ พิจารณาความบกพร่องจากการปฏิบัติหรือคำตอบว่ามีมากน้อยเพียงใด โดยหักจากคะแนนสูงสุดลดลงมาทีละระดับ ตัวอย่างเช่น ให้นักศึกษาทำโจทย์ปัญหาทางคณิตศาสตร์แล้วให้คะแนนดังนี้
                   0 คะแนน หมายถึง ไม่ตอบหรือตอบไม่ถูก
                   1 คะแนน หมายถึง แสดงวิธีการคิดแต่ไม่ครบทุกขั้นตอน และไม่ได้คำตอบ
                   2 คะแนน หมายถึง แสดงวิธีการคิดทุกขั้นตอนมีแนวทางที่จะไปสู่คำตอบ แต่คำนวณผิดพลาด คำตอบผิด
                   3 คะแนน หมายถึง แสดงวิธีการคิดทุกขั้นตอน แต่วิธีการผิดบางขั้นตอน คำตอบถูกต้อง
                   4 คะแนน หมายถึง แสดงวิธีการคิดทุกขั้นตอนอย่างถูกต้อง คำตอบถูกต้อง
          วิธีที่ 3 กำหนดระดับการยอมรับและคำอธิบาย ดังตัวอย่างของการประเมินความสามารถในการเข้าใจเนื้อหาสาระ
                   0 คะแนน หมายถึง ไม่แสดงความคิดเห็นใดๆ
                   1 คะแนน หมายถึง การแสดงออกให้เห็นถึงการเข้าใจในหลักการ ความคิดรวบยอด ข้อเท็จจริงของงานหรือสถานการณ์ที่กำหนดได้น้อยมากและเข้าใจไม่ถูกบางส่วน
                   2 คะแนน หมายถึง การแสดงออกถึงความเข้าใจที่ไม่สมบูรณ์ ครบถ้วนถูกต้องในหลักการ ความคิดรวบยอด ข้อเท็จจริงของงานหรือสถานการณ์ที่กำหนดไว้ในบางส่วน
                   3 คะแนน หมายถึง การแสดงออกถึงความเข้าใจที่สมบูรณ์ ครบถ้วนถูกต้องในหลักการ ความคิดรวบยอด ข้อเท็จจริงของงานหรือสถานการณ์ที่กำหนดไว้
                   4 คะแนน หมายถึง การแสดงออกถึงความเข้าใจที่สมบูรณ์ ครบถ้วนถูกต้องในหลักการ ความคิดรวบยอด ข้อเท็จจริงของงานหรือสถานการณ์ที่กำหนดไว้ รวมทั้งเสนอแนวคิดใหม่ที่แสดงออกถึงความเข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงกฏเกณฑ์
แบบที่ 2 เกณฑ์การให้คะแนนแบบแยกองค์ประกอบ (analytic scoring rubric) เกณฑ์นี้ใช้มาตรวัดหรือคะแนนแยกลักษณะของผลงาน กระบวนการ หรือพฤติกรรมเป็นแต่ละองค์ประกอบหรือรายการ โดยผู้สอนให้คะแนนแต่ละองค์ประกอบย่อยหรือรายการ แล้วจึงนำมารวมเป็นคะแนนทั้งหมด วิธีนี้ใช้เวลามาก ในรายละเอียดของแต่ละระดับจะมีประโยชน์เมื่อต้องการวินิจฉัยหรือเข้าใจผู้เรียนให้เข้าถึงสิ่งที่คาดหมายได้จากข้อมูลการประเมิน

http://reg.ksu.ac.th/teacher/yahvaret/lession1.html ได้กล่าวถึงความหมายของการวัดผลและการประเมินผลไว้ดังนี้
ความหมายของการวัดผล การทดสอบ และการประเมินผล
          การวัดผลการ (Measurement) หมายถึง กระบวนการหาปริมาณ หรือจำนวนของสิ่งต่าง ๆ โดยใช้เครื่องมืออย่างใดอย่างหนึ่ง ผลจากการวัดจะออกมาเป็นตัวเลข หรือสัญลักษณ์ เช่น นายแดงสูง 180 ซม. (เครื่องมือ คือ ที่วัดส่วนสูง) วัตถุชิ้นนี้หนัก 2 ก.ก (เครื่องมือ คือ เครื่องชั่ง)
          การทดสอบการศึกษา หมายถึง กระบวนการวัดผลอย่างหนึ่งที่กระทำอย่างมีระบบเพื่อใช้ในการเปรียบเทียบความสามารถของบุคคล โดยใช้ข้อสอบหรือคำถามไปกระตุ้นให้สมองแสดงพฤติกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งออกมา
          การประเมินผล (Evaluation) หมายถึง การตัดสิน หรือวินิจฉัยสิ่งต่าง ๆ ที่ได้จากการวัดผล
เช่น ผลจากการวัดความสูงของนายแดงได้ 180 ซม. ก็อาจประเมินว่าเป็นคนที่สูงมากผลจากการชั่งน้ำหนักของวัตถุชิ้นหนึ่งได้ 2 ก.ก ก็อาจจะประเมินว่าหนัก - เบา หรือ เอา- ไม่เอา
บลูม (Bloom) และคณะ ได้แบ่งพฤติกรรมที่จะวัดออกเป็น 3 ลักษณะ
1.       วัดพฤติกรรมด้านพุทธิพิสัย ได้แก่ การวัดเกี่ยวกับ ความรู้ ความคิด (วัดด้านสมอง)
2.       วัดพฤติกรรมด้านจิตพิสัย ได้แก่ การวัดเกี่ยวกับความรู้สึกนึกคิด (วัดด้านจิตใจ)
3.       วัดพฤติกรรมด้านทักษะพิสัย ได้แก่ การวัดเกี่ยวกับการใช้กล้ามเนื้อ และประสาทสัมผัสส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย (วัดด้านการปฏิบัติ)
จุดมุ่งหมายของการวัดผลการศึกษา
1. วัดผลเพื่อและพัฒนาสมรรถภาพของนักเรียน หมายถึง การวัดผลเพื่อดูว่านักเรียนบกพร่องหรือไม่เข้าใจในเรื่องใด อย่างไร แล้วครูพยายามอบรมสั่งสอนให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้และมีความเจริญงอกงามตามศักยภาพของนักเรียน
2. วัดผลเพื่อวินิจฉัย หมายถึง การวัดผลเพื่อค้นหาจุดบกพร่องของนักเรียนที่มีปัญหาว่า ยังไม่เกิดการเรียนรู้ตรงจุดใด เพื่อหาทางช่วยเหลือ
3. วัดผลเพื่อจัดอันดับหรือจัดตำแหน่ง หมายถึง การวัดผลเพื่อจัดอันดับความสามารถของนักเรียนในกลุ่มเดียวกันว่าใครเก่งกว่า ใครควรได้อันที่ 1 2 3
4. วัดผลเพื่อเปรียบเทียบหรือเพื่อทราบพัฒนาการของนักเรียน หมายถึง การวัดผลเพื่อเปรียบเทียบความสามารถของนักเรียนเอง เช่น การทดสอบก่อนเรียน และหลังเรียนแล้วนำผลมาเปรียบเทียบกัน
5. วัดผลเพื่อพยากรณ์ หมายถึง การวัดเพื่อนำผลที่ได้ไปคาดคะเนหรือทำนายเหตุการณ์ในอนาคต
6. วัดผลเพื่อประเมินผล หมายถึง การวัดเพื่อนำผลที่ได้มาตัดสิน หรือสรุปคุณภาพของการจัดการศึกษาว่ามีประสิทธิภาพสูงหรือต่ำ ควรปรับปรุงแก้ไขอย่างไร
มาตราการวัด
1. มาตรานามบัญญัติ เป็นมาตรการวัดที่ใช้กับข้อมูลเป็นเพียงการเรียกชื่อ หรือจำแนกชนิดหรือสัญลักษณ์กับสิ่งต่าง ๆ ไม่สามารถบอกปริมาณมากน้อยได้ แสดงให้เห็นเพียงความแตกต่างของสิ่งต่าง ๆ เช่น
การจำแนกคนเป็นเพศหญิง-ชาย หมายเลขโทรศัพท์ ทะเบียนรถ
2. มาตราเรียงอันดับ สามารถนำข้อมูลมาเปรียบเทียบกันได้ หรือเป็นการจัดอันดับข้อมูลได้ว่ามาก - น้อย สูง-ต่ำดี-ชั่ว
3. มาตราอันตรภาค สามารถบอกความห่างระหว่างสองตำแหน่งได้ เช่น การวัดอุณหภูมิ หรือเซลเซียส
4. มาตราสัดส่วน เป็นมาตราการวัดที่มีลักษณะสมบูรณ์ทุกอย่าง มีศูนย์แท้ ซึ่งแปลว่าไม่มีอะไร
หรือเริ่มต้นจาก 0เช่น ความสูง 0 นิ้ว ก็แปลว่าไม่มีความสูง หรือน้ำหนัก 0 กิโลกรัม ก็เท่ากับไม่มีน้ำหนัก
หลักการวัดผลการศึกษา
1. ต้องวัดให้ตรงกับจุดมุ่งหมายของการเรียนการสอน คือ การวัดผลจะเป็นสิ่งตรวจสอบผลจากการสอนของครูว่า นักเรียนเกิดพฤติกรรมตามที่ระบุไว้ในจุดมุ่งหมายการสอนมากน้อยเพียงใด
2. เลือกใช้เครื่องมือวัดที่ดีและเหมาะสม การวัดผลครูต้องพยายามเลือกใช้เครื่องมือวัดที่มีคุณภาพใช้เครื่องมือวัดหลาย ๆ อย่าง เพื่อช่วยให้การวัดถูกต้องสมบูรณ์
3. ระวังความคลาดเคลื่อนหรือความผิดพลาดของการวัด เมื่อจะใช้เครื่องมือชนิดใด ต้องระวังความบกพร่องของเครื่องมือหรือวิธีการวัดของครู
4. ประเมินผลการวัดให้ถูกต้อง เช่น คะแนนที่เกิดจาการสอนครูต้องแปลผลให้ถูกต้องสมเหตุสมผลและมีความยุติธรรม
5. ใช้ผลการวัดให้คุ้มค่า จุดประสงค์สำคัญของการวัดก็คือ เพื่อค้นและพัฒนาสมรรถภาพของนักเรียน ต้องพยายามค้นหาผู้เรียนแต่ละคนว่า เด่น-ด้อยในเรื่องใด และหาแนวทางปรับปรุงแก้ไขแต่ละคนให้ดีขึ้น

พเยาว์ เนตรประพา. (ม.ป.ป). http://www.ipesp.ac.th/learning/websatiti/chapter1/unit1_2_1.html  ได้รวบรวมความหมายของการวัดผลและประเมินผล จากนักการศึกษาไว้หลายท่าน ดังนี้
การวัดผลและประเมินผลทางการศึกษา
การวัดหรือ การวัดผล (Measurement) และคำว่า การประเมิน หรือการประเมินผล (Evaluation)เป็นคำที่มี ความหมายที่แตกต่างกัน แต่มักจะใช้ควบคู่กันเสมอ คือ การวัดและประเมินผล หรือการวัดผลและ ประเมินผล เพื่อให้ครอบคลุมความหมายได้ครบถ้วน   ความหมายของคำว่าการวัดผลและประเมินผล ได้มีผู้ให้ความหมายทั้งสองคำไว้ ดังนี้ 
ชวาล แพรัตกุล (2516 : 140) กล่าวว่า การวัดผลหมายถึง กระบวนการใดๆ ที่จะให้ได้มา
ซึ่งปริมาณจำนวนหนึ่ง อันมีความหมายแทนขนาดของสมรรถภาพนามธรรม ที่นักเรียนผู้นั้น มีอยู่ในตน
เชิดศักดิ์ โฆวาสินธุ์ (2521 : 21) กล่าวว่า การวัดผล หมายถึง ขบวนการในการกำหนดสัญลักษณ์หรือตัวเลขให้กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เพื่อแทนคุณภาพหรือปริมาณของสิ่งนั้นอย่างมีกฎเกณฑ์ที่เชื่อถือได้
บุญธรรม กิจปรีดาบริสุทธิ์(2535 : 15) กล่าวว่า การวัด เป็นกระบวนการเชิงปริมาณในการ
กำหนดค่าตัวเลข หรือสัญลักษณ์ที่มีความหมายแทนคุณลักษณะของสิ่งที่วัด โดยอาศัยกฎเกณฑ์อย่างใด
อย่างหนึ่ง
ล้วน สายยศ (2527 : 1) กล่าวว่า การวัด หมายถึง การนำเครื่องมือไปกระตุ้นยุแหย่ หรือไป
เร้าสิ่งหนึ่งสิ่งใด เพื่อให้ได้มาซึ่งปริมาณของสิ่งนั้น
อุทุมพร ทองอุไร (2520 : 29) กล่าวว่า การวัด หมายถึง กระบวนการนำตัวเลขหรือสัญลักษณ์มาเกี่ยวข้องกับลักษณะหรือคุณสมบัติของวัตถุ คน หรือสิ่งของที่จะวัด
นอลล์ (Noll 1965 : 7) กล่าวว่า การวัดผล หมายถึง กระบวนการในการกำหนดคุณลักษณะ
ของสิ่งที่ต้องการวัดในเชิงปริมาณ โดยผลการวัดจะแสดงออกในรูปจำนวน หรือตัวเลขที่มีหน่วยคงที่
อีเบล (Ebel 1978 : 557) กล่าวว่า การวัดผล หมายถึง กระบวนการในการกำหนดจำนวน
ให้แก่แต่ละสมาชิกที่อยู่ในกลุ่มสิ่งของ หรือบุคคลที่ต้องการวัด เพื่อบ่งชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างของ
คุณลักษณะที่จะวัดของสิ่งของหรือของบุคคลนั้น ๆ
       จากความหมายของการวัดผลที่กล่าวมา สรุปได้ว่า การวัดผล คือ กระบวนการกำหนดตัวเลข
ให้กับสิ่งที่ต้องการจะวัด โดยค่าที่ได้สามารถบ่งชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างของคุณลักษณะนั้นอย่างมีประ สิทธิภาพ
และความหมายของคำว่า การประเมินผล (Evaluation) ได้มีผู้ให้ความหมายไว้ ดังนี้
            ชวาล แพรัตกุล  (2516 : 140) กล่าวว่า การประเมินผล หมายถึง กระบวนการที่ครูนำทุกๆ
รายการที่ทราบจากการวัดไปใช้ โดยครูนำผลต่างๆ  จากการวัดผลเหล่านั้นมารวม มาชั่ง มาผสมเพื่อนำ
ไปใช้ในการวินิจฉัย ตีราคาคุณค่าและชี้ขาดลงเป็นผลสรุปว่า  เด็กคนนั้นมีคุณภาพสูงหรือต่ำ ควรให้เป็น
ประเภทสอบได้หรือสอบตก เป็นต้น  ซึ่งการประเมินผลที่ดีต้องตั้งอยู่บน  รากฐานของการวัดที่ดี
            สมหวัง  พิริยานุวัฒน์ (2520 : 176) กล่าวว่า การประเมินผล หมายถึง กระบวนการตัดสิน
คุณค่าของสิ่งของหรือการกระทำใด ๆ โดยเปรียบเทียบกับเกณฑ์มาตรฐาน
            ล้วน  สายยศ (2527 : 2) กล่าวว่า การประเมินผล หมายถึง กระบวนการพิจารณาตัดสินที่
เป็นระบบ ครอบคลุมถึงจุดมุ่งหมายที่ตั้งไว้
            อีเบล และฟริสบาย (Ebel and Frisbie1986 : 13) กล่าวว่า การประเมินผล หมายถึงการ
ตัดสินเกี่ยวกับคุณภาพหรือคุณค่าของสิ่งต่างๆ  ซึ่งบางครั้งอาจพิจารณาจากผลที่ได้จากการวัดเท่านั้น
แต่ส่วนมากจะตัดสินคุณค่าของสิ่งต่างๆ โดยพิจารณาจากผลที่ได้จากการวัดด้านต่าง ๆ ประกอบกับหลัก
ฐานด้านอื่น ที่เกี่ยวข้อง  และรวมถึงการใช้วิจารณญาณและความรู้สึกนึกคิดของผู้ประเมินมาประกอบ
ในการตัดสินใจด้วย
            กรอนลันด์ (Gronlund 1976 : 6)  กล่าวว่า การประเมินผล  หมายถึง กระบวนการอย่างมี
ระบบ (Systematic Process) ที่อธิบายสิ่งที่ต้องการประเมินทั้งในเชิงปริมาณ และเชิงคุณภาพ โดย
ประกอบกับการตัดสินคุณค่าให้กับสิ่งนั้น ซึ่งใช้การเปรียบเทียบกับเกณฑ์ หรือมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง
            จากความหมายของการประเมินผล สรุปว่า การประเมินผล คือ กระบวนการในการตัดสินใจ
ของผู้ประเมิน เพื่อจะตีค่า ตีราคา หรือให้คุณค่าแก่คุณลักษณะของคน สัตว์ สิ่งของ และสิ่งที่เป็นนาม
ธรรม โดยข้อมูลที่ได้จากการวัดผล เป็นส่วนประกอบในการตัดสิน  เปรียบเทียบกับเกณฑ์อย่างใดอย่าง
หนึ่งอย่างมีหลักเกณฑ์และอาศัยการตัดสินที่มีคุณธรรม
ลักษณะของการวัดผล
(อ้างอิง ยรรยงค์  ยรรยงเมธ (2540 : 3)) อธิบายว่า การวัดผล ต้องมีลักษณะที่สำคัญอยู่  3 ประการ คือ
         ประการแรก การวัดผลเป็นกระบวนการในการตรวจวัดคุณลักษณะของคน สัตว์ สิ่งของหรือสิ่งที่
เป็นนามธรรม เช่น   สติปัญญา  ความสนใจ ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เป็นต้น
         ประการที่สอง การวัดผลจำเป็นต้องมีเครื่องมือที่ใช้ในการตรวจสอบ เพื่อเทียบกับมาตรฐานที่
จะบอกปริมาณหรือจำนวนของคุณลักษณะนั้นๆ ได้ เช่น การวัดความยาวใช้ตลับเมตรเป็นเครื่องมือ การ
วัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนใช้แบบทดสอบเป็นเครื่องมือ เป็นต้น
         ประการที่สาม การวัดผลได้ค่าเป็นจำนวนหรือตัวเลขที่แสดงปริมาณ โดยมีหน่วยการวัดที่แสดง
ระดับหรือจำนวนว่ามีมากน้อยเพียงใด เช่น วัดระยะทางได้เท่ากับ 12 เมตร วัดอุณหภูมิ ในห้องได้เท่า
กับ 32 องศาเซลเซียส วัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาภาษาไทยได้ 26 คะแนน เป็นต้น
         ในการวัดผลหากจำแนกประเภทตามคุณลักษณะของสิ่งที่ตรวจวัดแล้วจะแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ
         1. การวัดด้านกายภาพ (Physical Measurement)  หมายถึง การวัดคุณลักษณะที่มีลักษณะ
เป็นรูปธรรม  คือมองเห็นได้หรือสัมผัสได้ เช่น น้ำหนัก ส่วนสูง พื้นที่ ปริมาตร เป็นต้น  การวัดผลด้าน
กายภาพจึงเป็นการวัดทางด้านวิทยาศาสตร์เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งมีเครื่องมือตรวจวัดที่สร้างขึ้นจากการศึกษา
ถึงคุณลักษณะสิ่งที่จะวัดอย่างชัดเจน แน่นอนเป็นมาตรฐานและสามารถตรวจสอบหรืออธิบายได้ในทาง
ทฤษฎี  ดังนั้นการวัดผลทางด้านกายภาพจึงไม่มีปัญหามากนัก  ถ้าเครื่องมือที่ใช้วัดมีความเชื่อถือได้  ผลที่ได้จากการวัดก็มีความเชื่อถือได้เช่นกัน
         2. การวัดด้านจิตวิทยา (Psychological  Measurement)  หมายถึง การวัดคุณลักษณะของ
มนุษย์ทางจิตใจหรือความรู้สึกซึ่งเป็นนามธรรม เพราะไม่สามารถสังเกตหรือสัมผัสได้โดยตรง  เช่น  สติปัญญา ความสนใจ เจตคติที่มีต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ความถนัดของบุคคล ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เป็นต้น
เครื่องมือที่ใช้ตรวจวัดด้านจิตวิทยาจึงต้องอาศัยการวัดทางอ้อม โดยอาศัยทฤษฎีหรือแนวคิดที่เกี่ยวกับ
คุณลักษณะนั้น ๆ เป็นเกณฑ์ในการตรวจสอบ  โอกาสที่จะเกิดความคลาดเคลื่อนจึงมีมาก
ลักษณะของการประเมินผล
               การประเมินผลนั้นเกี่ยวข้องทั้งปริมาณและคุณภาพ รวมทั้งการตัดสินคุณค่า ที่เกี่ยวข้อง
กับพฤติกรรมต่าง ๆ  ซึ่งการตัดสินคุณค่านั้น   ขึ้นอยู่กับภูมิหลังและพื้นฐานแต่ละบุคคล ที่ทำการตัดสิน
คุณค่า เช่น สิ่งของที่วัดได้ขนาดเดียวกัน  แต่อาจจะประเมินผลค่าต่างกัน แต่เมื่อมีการประเมินผลแล้ว
จะต้องมากกว่าการบรรยายคุณลักษณะทางปริมาณ  โดยมีจุดเน้นที่การดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมาย
ทางการศึกษา ซึ่งต้องประกอบด้วยคุณลักษณะดังนี้ (ค้วน  ขาวหนู  ม.ป.ป. : 85)   
               1. เป็นการรวบรวมพฤติกรรมทั้งหมดของผู้เรียนซึ่งได้จากการวัดหลายแบบ หลายวิธี
               2. เป็นการคาดคะเนหรือแปลความก้าวหน้าของผู้เรียน  ในด้านความสามารถว่าบรรลุ
ตามจุดประสงค์หรือไม่เพื่อจะได้ทราบถึงความเจริญก้าวหน้าไปในส่วนที่ปรารถนานั้น
               3. เป็นการกระทำที่ต่อเนื่องจากการเรียนการสอนและกระทำต่อเนื่องตลอดเวลา ใช้ใน
การวินิจฉัยคุณภาพของกระบวนการเรียนการสอนแต่ละขั้นตอนว่ามีประสิทธิภาพเพียงใดและจะต้องแก้
ไขอย่างไร เป็นกระบวนการที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กันระหว่างผู้สอน ผู้เรียน และผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น ผู้บริหาร
และผู้ปกครอง เป็นต้น      

สรุป
การวัดผล  หมายถึง กระบวนการเชิงปริมาณใดๆ ที่จะให้ได้มาซึ่งปริมาณจำนวนหนึ่ง โดยกำหนดสัญลักษณ์หรือค่าตัวเลข ที่มีความหมายแทนคุณภาพหรือปริมาณของสิ่งนั้นอย่างมีกฎเกณฑ์ที่เชื่อถือ โดยค่าที่ได้สามารถบ่งชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างของคุณลักษณะนั้นอย่างมีประ สิทธิภาพ
          การประเมินผล หมายถึง กระบวนการในการตัดสินใจอย่างมีระบบ โดยจะนำผลมาจากการวัดหรือกระบวนการที่ครูนำทุกๆ รายการที่ทราบจากการวัดไปใช้ โดยครูนำผลต่างๆ  จากการวัดผลเหล่านั้นมารวม มาชั่ง มาผสมเพื่อนำ ไปใช้ในการวินิจฉัย ตีราคา คุณค่าและชี้ขาดลงเป็นผลสรุปว่า  เด็กคนนั้นมีคุณภาพสูงหรือต่ำ ควรให้เป็นประเภทสอบได้หรือสอบตก เป็นต้น  ซึ่งการประเมินผลที่ดีต้องตั้งอยู่บน  รากฐานของการวัดที่ดี
เครื่องมือที่ใช้ในการประเมิน
1.  การสังเกต (Observation)
2.  การสัมภาษณ์ (Interview)
3. แบบสอบถาม (Questionair)
4. แบบทดสอบวัดความสามารถจริง (Authentic Test)
5. บันทึกของผู้เรียน (Learning log)
6. แฟ้มสะสมผลงาน (Portfolio)
7. แบบสำรวจรายการ
ลักษณะของการวัดผล
         1. การวัดด้านกายภาพ (Physical Measurement)  หมายถึง การวัดคุณลักษณะที่มีลักษณะ
เป็นรูปธรรม  คือมองเห็นได้หรือสัมผัสได้ เช่น น้ำหนัก ส่วนสูง พื้นที่ ปริมาตร เป็นต้น 
         2. การวัดด้านจิตวิทยา (Psychological  Measurement)  หมายถึง การวัดคุณลักษณะของ
มนุษย์ทางจิตใจหรือความรู้สึกซึ่งเป็นนามธรรม เพราะไม่สามารถสังเกตหรือสัมผัสได้โดยตรง  เช่น  สติปัญญา ความสนใจ เจตคติที่มีต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ความถนัดของบุคคล ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เป็นต้น
ลักษณะของการประเมินผล
               1. เป็นการรวบรวมพฤติกรรมทั้งหมดของผู้เรียนซึ่งได้จากการวัดหลายแบบ หลายวิธี
               2. เป็นการคาดคะเนหรือแปลความก้าวหน้าของผู้เรียน  ในด้านความสามารถว่าบรรลุ
ตามจุดประสงค์หรือไม่เพื่อจะได้ทราบถึงความเจริญก้าวหน้าไปในส่วนที่ปรารถนานั้น
               3. เป็นการกระทำที่ต่อเนื่องจากการเรียนการสอนและกระทำต่อเนื่องตลอดเวลา

ที่มา
http://www.c4ed.kmutt.ac.th/?q=node/144. การประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียน.สืบค้นเมื่อ 17 กันยายน 2558
http://reg.ksu.ac.th/teacher/yahvaret/lession1.html. การวัดผลและประเมินผล. สืบค้นเมื่อ 17 กันยายน 2558
พเยาว์ เนตรประพา.(ม.ป.ป).[online].http://www.ipesp.ac.th/learning/websatiti/chapter1/unit1_2_1.html                   การวัดและประเมินผลการศึกษา.สืบค้นเมื่อ 17 กันยายน 2558




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น